บทความ
“คอมครูใหม่.ไทย” จากวิกฤตโควิดสู่พื้นที่แห่งโอกาสการศึกษา
ภาวะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสหรือโควิด19(Covid-19) ทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามออกจากบ้านพักอาศัย แต่เมื่อถึงเวลาเปิดเทอมการเรียนการสอนของนักเรียนและนักศึกษายังคงต้องดำเนินต่อไป หน่วยงานด้านการศึกษาจึงประกาศให้ทำการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ครูต้องปรับตัวผลิตสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ เผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ยูทูบ (Youtube) เฟซบุ๊ก(facebook) เพื่อให้นักเรียนได้เข้าทำการเรียนจากบ้านของตนเอง
จวบจนปัจจุบันการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ยังคงมีอยู่เป็นระยะ และมีการนำสื่อการเรียนการสอนที่บรรจุไว้ในสังคมออนไลน์ออกมาใช้ประกอบการเรียนในระบบออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง
นางภุมรา บุญประเสริฐ หรือครูใหม่ ครูวิทยะฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านพระนั่งดิน จังหวัดพะเยา เจ้าของเว็บไซต์ www.คอมครูใหม่.ไทย หรือ www.comkroomai.in.th ครูผู้สอนวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เริ่มทำเว็บไซต์ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด19 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ยังไม่เป็นระบบเท่าใดนัก แต่เมื่อภาวะวิกฤตของโควิด19 ลดลง นักเรียนได้เดินทางมาเรียนที่โรงเรียน แต่พบว่านักเรียนบางส่วนยังคงขาดเรียน เพราะผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เด็กนักเรียนต้องไปช่วยผู้ปกครองทำงาน จึงขาดเรียนบ่อย
ครูใหม่ จึงเริ่มจัดทำเว็บไซต์ให้เป็นระบบเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ขาดเรียนได้เรียนรู้ในระหว่างที่ช่วยผู้ปกครองทำงานที่บ้าน จากนั้นได้พัฒนาเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเว็บไซต์มีเนื้อหาที่สามารถใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ อย่างไรก็ตาม การทำเว็บไซต์ของตนเองในช่วงแรกนั้น ได้ทำผ่าน google site จึงมีชื่อโดเมนที่ยาว และจำได้ยาก
เมื่อทราบข่าวการเปิดรับเข้าอบรมใน โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 จึงสมัครเข้าร่วมอบรม เพราะทำให้ได้รับโดเมนภาษาไทย ที่มีชื่อสั้นจดจำง่าย เข้าถึงง่าย
ภายหลังการอบรมเว็บไซต์ www.คอมครูใหม่.ไทย หรือ www.comkroomai.in.th เป็น หนึ่งใน 11 เว็บไซต์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับศูนย์อบรมจากการประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567
เครือข่ายครู ช่วยพัฒนาการทำเว็บไซต์
ครูใหม่ เล่าว่า หลังจากเข้าร่วมอบรม ได้รับประสบการณ์สร้างเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับได้รับการแชร์ประสบการณ์จากเพื่อนครูหลายท่าน จึงนำไปพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ของตนเอง จากเดิมที่เว็บไซต์ของตนมีเนื้อหาเยอะ ใช้งานยาก จึงจัดโครงสร้างหมวดหมู่ใหม่ ปรับปรุงรูปแบบให้มีความสวยงามมากขึ้น เพิ่มเนื้อหาให้ชัดเจนครอบคลุมมากขึ้น และเข้าใช้งานง่ายและสร้างความเข้าใจมากขึ้น
ทั้งนี้ภายหลังจากปรับปรุงเว็บไซต์แล้ว ครูใหม่ได้รับคำชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเว็บไซต์ที่สั้นและเป็นนามสกุล .ไทย ทำให้เด็กนักเรียนจำง่าย เข้าถึงเว็บไซต์ง่าย รวมทั้งผู้ปกครองก็เข้าไปใช้งานง่ายด้วย
สำหรับแนวคิดในการต่อยอดเว็บไซต์ในอนาคตนั้น ครูใหม่เตรียมปรับปรุงนิทานแอนิเมชัน (Animation) ตะลุยโลกอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับแรก คือต้องการปรับปรุงบุคลิกของตัวการ์ตูน โดยจะทำให้ตัวการ์ตูนแต่ละตัวมีบุคลิกที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เด็กนักเรียนเข้าใช้งานจะได้มีความรู้สึกว่าการ์ตูนน่าสนใจมากขึ้น โดยในส่วนของการจัดทำแอนิเมชัน (Animation) นั้น ครูใหม่ได้ให้โอกาสนักเรียนที่มีความสามารถในการวาดตัวการ์ตูนเข้ามาช่วย เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะงานด้านนี้ อีกทั้งครูใหม่ยังต้องการจัดหมวดหมู่การใช้งานออกเป็นส่วนสำหรับครู สำหรับนักเรียน และสำหรับผู้ปกครองและประชาชนที่สนใจทั่วไป
นอกจากนี้ ครูใหม่ยังมีโครงการที่จะขยายผลสู่เพื่อนครูในโรงเรียน โดยจะอบรมการจัดทำเว็บไซต์ให้กับเพื่อนครูในโรงเรียน ส่วนทางโรงเรียนบ้านพระนั่งดิน ได้ทำเรื่องขอเว็บไซต์กับโครงการศึกษา.ไทย ถ้าได้รับการอนุมัติจะจัดทำเว็บไซต์ของโรงเรียนแล้วเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของคุณครูแต่ละท่านต่อไป และจะเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์แหล่งความรู้อื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรงเรียนบ้านพระนั่งดินเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ตั้งอยู่ท่ามกลางโรงเรียนขนาดใหญ่ทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอ นักเรียนของโรงเรียนบ้านพระนั่งดินจะเป็นนักเรียนที่ยากจนหรือเด็กมีปัญหาจึงมีจำนวนนักเรียนน้อย ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนจำนวน 154 คน โดยระดับชั้นเรียนหนึ่งมีนักเรียนประมาณสิบคน ทำให้โรงเรียนได้รับงบประมาณจัดสรรรายหัวไม่มาก ขณะที่วัสดุอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีมีราคาแพง ทางโรงเรียนจึงต้องใช้อุปกรณ์ที่ค่อนข้างเก่าและสเปคต่ำ ดังนั้นการใช้งานแอปพลิเคชัน (Application) หรือโปรแกรมสร้างเว็บไซต์ การทำกราฟิก (Graphic) จึงสามารถทำได้ในคอมพิวเตอร์บางเครื่องเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขและพัฒนาต่อไป
เชิญชวนเพื่อนครูร่วมอบรมสร้างเว็บไซต์
แม้ครูใหม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการพัฒนาเว็บไซต์ของตนเอง แต่ครูใหม่มองเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 โดยครูใหม่กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ เป็นโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน
“อันดับแรกคือได้รับความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการสร้างเว็บไซต์ ได้แชร์ประสบการณ์ให้กับเพื่อนครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ้าเว็บไซต์เราสามารถส่งเข้าประกวดได้ ก็มีโอกาสจะได้รับรางวัลด้วย จึงขอเชิญชวนให้คุณครูทุกท่านเข้าร่วมโครงการนี้ในปีต่อ ๆ ไปค่ะ”
คลิปสัมภาษณ์