บทความ

เรียนรู้ไม่สะดุด กับ “ครูยุทธ.ไทย” การสอนที่ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์

การเรียนการสอนผ่านโลกออนไลน์ของหน่วยงานด้านการศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือโควิด19 (Covid-19) เป็นภาวะจำเป็นที่ครูและนักเรียนรวมถึงผู้ปกครองต้องปรับตัว เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

แต่วิชาเรียนที่เน้นการปฏิบัติ การเรียนการสอนผ่านโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังเช่น นายยุทธภูมิ  สอนวิสัย หรือครูแมน ต้องพบกับโจทย์ที่ยาก เพราะสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ วิชาเอกเทคโนโลยีการเกษตร ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทำให้ครูต้องหาช่องทางในการสื่อสารกับนักเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาภาคปฏิบัติ

นายยุทธภูมิ  สอนวิสัย หรือครูแมน เป็นครู โรงเรียนสวีวิทยา จังหวัดชุมพร ได้เคยสร้างเว็บไซต์ของตนเองตั้งแต่ปี 2561 โดยสร้างผ่าน Google Site เป็น URL ที่ Google Site กำหนดให้ ใช้งานมาตลอด

“มาใช้งานเยอะช่วงโควิด เพราะหาวิธีการติดต่อสื่อสารกับนักเรียนไม่ได้ นักเรียนหยุดมาโรงเรียน แต่ครูต้องมาทำงานตามปกติ ขณะที่รายวิชาการงาน ต้องทำอะไรก็ตามให้เด็กปฏิบัติได้ เพราะวิชาการงานเน้นการปฏิบัติ ไม่เหมือนวิชาพื้นฐานทั่วไป ที่ครูสามารถไลฟ์ (live) ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ทางโรงเรียนกำหนดการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก นั้นเป็นการสื่อสารทางเดียว นักเรียนก็แค่นั่งดู แต่วิชาการงานต้องการให้นักเรียนติดต่อกับเราได้ ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง เราก็เลยใช้วิธีการเอาข้อมูลมาใส่ใน Google Site แล้วหาวิธีการที่จะโต้ตอบกับนักเรียนได้” ครูแมนกล่าว

ใช้ชื่อเว็บไซต์ภาษาไทยดอทไทย เพื่อสร้างการจดจำ

  ครูแมนเล่าว่า เมื่อเห็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้สมัครเข้ารับการอบรมกับ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 จึงสนใจเข้าร่วมอบรม เพราะต้องการให้เว็บไซต์ของตนเองมีชื่อเว็บไซต์ดอทไทย  ซึ่งจะเป็นจุดที่ช่วยแก้ปัญหา URL ยาวได้ เพราะเว็บไซต์ของตนเองนั้นชื่อยาวและจดจำยาก

หลังจากผ่านการอบรม ครูแมนได้ปรับปรุงเว็บไซต์และส่ง เว็บไซต์ www.ครูยุทธ.ไทย หรือ www.kruyot.in.th  เข้าประกวด เว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 จนเป็นหนึ่งใน 11 เว็บไซต์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับศูนย์อบรม 


ออกแบบเว็บไซต์ให้เรียบง่ายเหมาะกับการเข้าใช้งาน

ครูแมน เปิดเผยว่า จากจุดเริ่มต้นความคิดในการออกแบบนั้น ตนเองมองว่าเว็บไซต์ของตนเองให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาเข้าใช้งาน จึงเน้นการออกแบบเว็บไซต์ให้เรียบง่าย นักเรียนเข้าชมได้ง่าย ดังนั้นเว็บไซต์จึงมีสีสันที่ไม่ฉูดฉาดมาก ไม่มีเอฟเฟ็กต์ (Effect) ตัวการ์ตูนมากมาย เน้นเรียบง่าย แต่หลังจากเข้ารับการอบรมได้ดำเนินการปรับปรุงเว็บไซต์ค่อนข้างเยอะ มีการหาฟังก์ชันเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้มีความโดดเด่น มีการเพิ่มเอฟเฟ็กต์ มีการจำแนกเนื้อหาให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามในการปรับปรุงมีบางส่วนต้องเขียนโค้ดเพิ่ม จึงขอความช่วยเหลือจากครูวิชาคอมพิวเตอร์ช่วยกันปรับปรุงเว็บไซต์


สอนวิชางานเกษตร สื่อสารกับเด็กอย่างไรเมื่อนักเรียนอยู่บ้าน

ปัญหาการสื่อสารกับนักเรียนที่อยู่บ้านนั้น ครูแมนแก้ปัญหาด้วยการใช้ ช่องทางของโรงเรียนเป็นหลัก โดยสื่อสารผ่านทาง Google Meet เป็นห้อง ๆ แล้วใช้ Google Classroom เข้ามาร่วม แต่จะสั่งงานผ่าน Google Site ให้นักเรียนเข้าไปส่งงานในหน้าไซต์ที่สั่งงาน จากนั้นนักเรียนจะส่งงานผ่านกูเกิ้ลฟอร์ม Google Form

ครูแมนเล่าว่า ยังคงพบปัญหานักเรียนจำนวนมากทักมาเป็นการส่วนตัว สอบถามผลการส่งงาน ทำให้ครูมีแนวคิดในการพัฒนาต่อไป “จะทำยังไงที่นักเรียนไม่ต้องทักเข้ามาถาม เพราะมีนักเรียนจำนวนมาก ก็ใช้วิธีการ ให้นักเรียนนำเลขประจำตัวนักเรียน สืบค้นว่างานที่ส่งได้กี่คะแนน เป็นรายบุคคลไป เช่น ถ้าเอาเลขประจำตัวนักเรียนค้นหา งานนักเรียนทุกชิ้นก็จะขึ้นมาทั้งหมด ได้คะแนนเท่าไหร่” ครูแมนกล่าว

นอกจากนี้ ครูแมนยังมีแนวคิดพัฒนาเว็บไซต์ ตามนโยบายของ สพฐ. ที่จะลดการประเมินครูจากกระดาษ มาใช้ระบบประเมินออนไลน์ (PA online) โดยขณะนี้ครูแมนเริ่มทำการประเมินในรูปแบบดังกล่าวล่วงหน้ามาแล้ว 1 ปี ขณะนี้กำลังขยายผลให้ครูในกลุ่มสาระก่อน หลังจากนี้ก็จะขยายผลสู่ครูท่านอื่นในโรงเรียนต่อไป

เรียนผ่านเว็บไซต์ลดการติด 0 ติด “ร”

ผลตอบรับการใช้เว็บไซต์นั้น ครูแมนเล่าว่าส่วนใหญ่ได้รับทราบผลมาจากนักเรียน เพราะนักเรียนสามารถติดตามผลการส่งงานในเว็บไซต์ได้ตลอดเวลา โดยนักเรียนจะเช็คคะแนนและเกรดที่ได้รับ หากพบว่าคะแนนรวมยังขาด ก็จะติดต่อครูแมนขอแก้ไขงานเพื่อปรับเกรดผลการเรียนให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีอย่างชัดเจน เพราะพบว่า มีจำนวนนักเรียนที่สอบไม่ผ่านลดลงมาก สามารถลดการติด 0 หรือ ติด “ร” ลงได้

ส่วนเพื่อนครูในโรงเรียน ได้แสดงความสนใจที่จะสร้างเว็บไซต์ของตนเองเช่นก้น โดยขอให้ครูแมนช่วยสอน ปัจจุบันจึงมีการสอนสร้างเว็บไซต์แบบตัวต่อตัว หรือให้คำปรึกษาแก่ครูท่านอื่น


 เชื่อมโยงเว็บไซต์เพิ่มแหล่งเรียนรู้

       วิชาเทคโนโลยีการเกษตรที่ครูแมนสอนนั้น มีแหล่งความรู้ทางวิชาการจากเว็บไซต์ของหน่วยงานต่าง ๆ ครูแมนจึงจัดทำเมนูที่รวบรวมแหล่งความรู้เหล่านั้นไว้ ที่เมนู “แหล่งเรียนรู้” โดยรวบรวมอีบุ๊ก (E-book) จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร  

“จำแนกเป็นหมวดหมู่ให้นักเรียนเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมหน่วยงานที่เราเชื่อมโยงไป ก็จะเกิดประโยชน์กับผู้ปกครองด้วย” ครูแมนกล่าว

สุดท้าย ครูแมน ยอมรับว่าการเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ทำให้มีชื่อเว็บไซต์ดอทไทยที่มีความน่าเชื่อถือ ใช้งานง่าย และยิ่งเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เว็บไซต์ของเรามีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น จึงอยากเชิญชวนครูท่านอื่นเข้ามาอบรมมากขึ้น เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์กับตนเอง ยังเป็นการตอบสนองนโยบายของสถานศึกษาด้วย

คลิปสัมภาษณ์