บทความ

เว็บไซต์ “ครูชัยวุฒิ.ไทย” สร้างสื่อ สร้างโอกาส เพื่อเด็กพิเศษ

เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือผิดปกติทางร่างกาย สติปัญญา และทางจิตใจ เป็นกลุ่มเด็กที่ต้องจัดการเรียนการสอนให้มีความแตกต่างจากเด็กปกติ เช่น การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เน้นการปฏิบัติ เน้นการสื่อสารเฉพาะสำหรับเด็กที่มีความพิเศษต่างกัน

การผลิตสื่อการเรียนการสอน เพื่อใช้ในโลกออนไลน์จึงเป็นการผลิตสื่อที่มีความพิเศษ เพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ เช่น การผลิตสื่อที่มีการแปลผ่านล่ามภาษามือ การผลิตสื่อที่กระตุ้นการปฏิบัติ

เว็บไซต์ www.ครูชัยวุฒิ.ไทย หรือ www.kruchaiwut.in.th  ของ นายชัยวุฒิ กระวีพันธ์  ครู โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวอย่างเว็บไซต์ที่รวบรวมสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมาไว้ในที่เดียว โดยเว็บไซต์นี้เป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับศูนย์อบรมจากการประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567

จุดเริ่มต้นสร้างแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษ

ครูชัยวุฒิ มีหน้าที่รับผิดชอบการสอนรายวิชาคำนวณสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินและเด็กออทิสติกตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3  แต่ก่อนนี้เคยทำเว็บไซต์อย่างไม่เป็นทางการ ต่อมาได้เห็นการประชาสัมพันธ์รับสมัครเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 ผ่านทางสื่อออนไลน์ จึงมีความสนใจ เพราะตนเองก็จบการศึกษามาทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา มีความคุ้นชินกับการผลิตสื่อ เมื่อพบโฆษณาสิ่งที่ชอบจึงติดตามและอยากไปร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับครูท่านอื่น เพื่อให้เป็นไอเดียในการผลิตสื่อต่อไป


วางแผนจัดทำเว็บไซต์ให้ตรงกับความต้องการของนักเรียน      

หลังจากการอบรม ครูชัยวุฒิเริ่มวางแผนจัดทำ เว็บไซต์ www.ครูชัยวุฒิ.ไทย หรือ www.kruchaiwut.in.th  มีการกำหนดเนื้อหาที่จะบรรจุลงเว็บไซต์ โดยคัดสรรประเภทเนื้อหาที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากนักเรียนเป็นผู้ที่มีความพิการ จึงต้องเลือกเนื้อหาที่มีความเข้าใจง่าย เมื่อนำลงเว็บไซต์นักเรียนเข้าชมแล้วจะได้เกิดการเรียนรู้ ครูชัยวุฒิจึงขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง รวมทั้งการใช้ภาษามือมาประกอบในคลิป เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ครูชัยวุฒิได้พัฒนาเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่สอน บรรจุคู่มือเกี่ยวกับการผลิตสื่อครูลงในเว็บไซต์ซึ่งเป็นคู่มือที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมจากสถานที่ต่าง ๆ นำมารวบรวมเพื่อให้ครูท่านอื่นเข้ามาเรียนรู้ได้จากเว็บไซต์  www.ครูชัยวุฒิ.ไทย หรือ www.kruchaiwut.in.th  

“เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ใช้กับนักเรียนออทิสติกเพราะเนื้อหายังซับซ้อนอยู่ เวลาสอนนักเรียนออทิสติกจะให้เด็กปฏิบัติมากกว่า” ครูชัยวุฒิกล่าว

นอกจากการผลิตวิดีโอที่มีการใช้ล่ามภาษามือประกอบแล้ว ครูชัยวุฒิยังทำกราฟฟิกเคลื่อนไหว (Motion Graphic) หรือ Gif ข้อความ เช่น ดอทไทยสะกดอย่างไร คืออะไร มีการอธิบายไปแต่ละส่วนด้วย ครูชัยวุฒิยังนำ E-book ที่เน้นภาพที่มีสีสดใสและมีข้อความประกอบ มาบรรจุไว้ในเว็บไซต์ เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพ เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และสนใจติดตาม 

“การใช้การจัดลำดับของเนื้อหา การใช้สี เพราะคิดว่านำไปใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือเด็กประถม เรื่องสีเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าใช้สีที่ไม่ดึงดูดเด็กก็ไม่อยากเข้าไปเรียน ก็เลือกใช้สีหรือภาพกราฟฟิกเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อให้น่าติดตามมากขึ้น” ครูชัยวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ ครูชัยวุฒิยังใช้เว็บไซต์นี้ เป็นเสมือนห้องสมุดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ทำขึ้น เพื่อที่อนาคตจะได้ย้อนกลับไปดูซ้ำได้

บูรณาการทำเว็บไซต์ร่วมกับครูที่มีความเชี่ยวชาญ

การผลิตสื่อเพื่อนักเรียนที่มีความบกพร่องมีรายละเอียดที่ต้องตรวจสอบให้ถูกต้อง ครูชัยวุฒิจึงนำเว็บไซต์ที่ทำขึ้นไปสอบถามจากผู้ที่มีความเชี่ยวขาญว่าเนื้อหามีความถูกต้องหรือไม่

“ต้องการปรับเว็บไซต์ให้สมบูรณ์มากขึ้น และยังมีการปรึกษาในเรื่อง การนำภาษามือเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ไปปรึกษากับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษามือ ให้เป็นวิทยากรในการใช้ภาษามือมาใส่ในเว็บไซต์เพื่อให้เนื้อหาถูกต้องมากขึ้น” ครูชัยวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากนำเว็บไซต์มาใช้ในการเรียนการสอน พบว่า นักเรียนมีความสนใจอย่างมาก โดยก่อนเริ่มเข้าสู่คาบเรียน นักเรียนจะเปิดหน้าเว็บไซต์รอ และเปิดดูบทเรียนก่อนที่ครูจะเริ่มทำการสอน ส่วนเพื่อนครูก็มีความสนใจเช่นกัน พบว่ามีการสอบถามถึงการสร้างเว็บไซต์ว่าทำอย่างไร ทำไมเว็บไซต์น่าสนใจดึงดูดให้เข้าไปเยี่ยมชม และเพื่อนครูต้องการให้ครูชัยวุฒิช่วยสอนทำเว็บไซต์


ฝึกนักเรียนให้ใช้เว็บไซต์ในห้องเรียน

การใช้เว็บไซต์ www.ครูชัยวุฒิ.ไทย หรือ www.kruchaiwut.in.th นั้น เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนจึงไม่สามารถใช้มือถือได้ 100% ครูชัยวุฒิจึงใช้ช่วงเวลาการสอนในคาบเรียนเปิดเว็บไซต์ควบคู่ไปกับการสอน เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้การเข้าเว็บไซต์และสามารถกลับไปทบทวนเมื่อโรงเรียนปิดเทอม  โดยครูกำหนดให้นักเรียนทำแบบทดสอบทาง Google Form เชื่อมโยงผ่าน Google Classroom เข้ามาบูรณาการบนเว็บไซต์ ซึ่งเป็น Google Site และยังสามารถประเมินผ่านเว็บไซต์ได้ด้วย

นอกจากนี้ ครูชัยวุฒิยังมีเพจใน Facebook ชื่อ “ห้องสื่อการเรียนรู้ครูชัยวุฒิ” เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น ใช้เป็นพื้นที่ตอบข้อซักถาม มีการแจกสื่อเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอนให้เพื่อนครู และใช้ประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ www.ครูชัยวุฒิ.ไทย หรือ www.kruchaiwut.in.th  ให้รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

สุดท้าย ครูชัยวุฒิกล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 ว่า ทำให้สามารถพัฒนาเว็บไซต์ได้ดีขึ้น ได้เห็นวิธีการสอนของแต่ละโรงเรียนว่ามีรูปแบบการผลิตสื่ออย่างไร เนื้อหาอย่างไร ทำให้เราเกิดการเรียนรู้และนำไปปรับตัวกับโรงเรียนของเราได้  

“ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนกับเพื่อนครูว่า ลองสมัครมาอบรมกับโครงการเว็บครู.ไทย จะได้รับความรู้มากมายที่เราสามารถนำไปใช้ได้จริงครับ” ครูชัยวุฒิกล่าวปิดท้าย

คลิปสัมภาษณ์