บทความ

ขุนช้าง.ไทย” จากบอร์ดสมองกล สู่เว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้

ความต้องการมีเว็บไซต์ของตนเองเพื่อเผยแพร่ผลงานกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น  ทางมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 ขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมุ่งเป้าหมายเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรทางการศึกษา ที่นอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมสื่อการเรียนการสอนแล้ว ยังถ่ายทอดทักษะการผลิตเว็บไซต์ให้กับนักเรียนและเพื่อนครูต่อไปได้

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 มีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 700 คน โดยนายคำสัน แน่นอุดร หรือครูช้าง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนป่าแดงหนองฮูหนองตอโนนไทย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขตหนึ่ง เป็นหนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมผ่านศูนย์ร้อยเอ็ด และภายหลังการอบรมได้ส่ง  เว็บไซต์ www.ขุนช้าง.ไทย หรือ  www.kunchang.in.th เข้าประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ. 2567 และเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับศูนย์อบรม

จุดเริ่มสร้างเว็บไซต์แหล่งเทคโนโลยีรวบรวมความรู้

ครูช้าง บอกเล่าประสบการณ์ทำเว็บไซต์ว่า เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตนเป็นครูสังกัดกรุงเทพมหานครสอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้ทำเว็บไซต์ให้กับโรงเรียน โดยมีการจดพื้นที่เช่าโฮสติ้ง (Hosting) แล้วแจกจ่ายซับโดเมน (Subdomain) เพื่อหารายได้ให้กับโรงเรียน แต่เมื่อแต่งงานได้ย้ายตามภรรยามาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขตหนึ่ง ก็ยังไม่รู้จักการทำเว็บไซต์ผ่าน Google Site

ทั้งนี้ โรงเรียนป่าแดงหนองฮูหนองตอโนนไทย จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ครูช้างย้ายมาทำการสอนอยู่นั้น มีครูจำนวนไม่มากและเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ครูช้างจึงรับผิดชอบการสอนหลายวิชา คือ วิชาคอมพิวเตอร์ วิทยาการคำนวณ การงานอาชีพ ศิลปะ ดนตรี พละศึกษา และสุขศึกษา  

เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯประชาสัมพันธ์เปิดรับครูเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 จึงมีความสนใจ เพราะตนสอนหนังสือหลายวิชา และที่โรงเรียนยังไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นศูนย์รวมความรู้ อีกทั้งช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ มีเทรนด์การสร้างเว็บไซต์เก็บรวบรวมผลงาน จึงคิดว่าหากเข้าร่วมโครงการจะเกิดประโยชน์กับตนเองและนักเรียน


บอรด์สมองกลเป็นหลักคิดในการออกแบบเว็บไซต์

ครูช้างเล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ จึงมีความสนใจบอร์ดสมองกลฝังตัวและหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นโครงงานประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ สิ่งนี้ได้จุดประกายความคิดในการสร้างเว็บไซต์  www.ขุนช้าง.ไทย หรือ www.kunchang.in.th ให้เป็นศูนย์รวมเนื้อหาที่ครูช้างสอน เพื่อเผยแพร่ เป็นพื้นที่เก็บผลงานนักเรียนและผลงานของตนเอง เพื่อให้ผู้อื่นที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ และเด็กนักเรียนได้เข้าไปศึกษา

รูปแบบเว็บไซต์ในช่วงแรกนั้น ครูช้างเล่าว่า โรงเรียนที่ตนสอนนั้นเป็นโรงเรียนขยายโอกาส นักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียน โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรม (Coding) เป็นสิ่งที่เด็กไม่ชอบเรียน ดังนั้นตนจึงใช้วิธีนำบอร์ดของจริงมาใช้งาน สอนให้นักเรียนเขียนโค้ด (Code) แล้วอัปโหลดโปรแกรมเข้าบอร์ด เมื่อนักเรียนเห็นก็จะมีความสนใจ แต่เนื่องจากคาบเรียนมีจำนวนชั่วโมงเรียนไม่เพียงพอ ตนจึงนำเนื้อหาไปใส่ไว้ในเว็บไซต์เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าเว็บไซต์ไปทบทวนในภายหลังได้ โดยนักเรียนจะเข้าเว็บไซต์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

“เด็กขยายโอกาสจะไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แต่จะใช้โทรศัพท์มือถือดูได้ เช่น ครูบอกว่าจะเขียนโปรแกรม (Coding) อุณหภูมิ ให้เด็กเข้าไปดูในมือถือ เด็กก็ดูก่อน ต่อไปก็จะเขียนโปรแกรมง่าย ๆ ได้เอง” ครูช้างกล่าว

เว็บไซต์ “www.ขุนช้าง.ไทย” ได้รับผลตอบรับดี

ครูช้างได้นำ เว็บไซต์  www.ขุนช้าง.ไทย หรือ www.kunchang.in.th ไปเผยแพร่ ในโอกาสที่เป็นวิทยากร สอนการเขียนโปรแกรม (Coding) เข้ากับบอร์ดภายใต้โครงการ Coding for Better Life ของ depa ที่โรงเรียนร่วมโครงการอยู่ โดยเมื่อต้องเดินทางไปสอนในพื้นที่เครือข่ายและต่างจังหวัด ก็จะเผยแพร่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ ในเว็บไซต์ โดยเฉพาะหมวด KidฺBright ที่นักเรียนสามารถเข้าไปศึกษาแล้วทำตามได้

ครูช้างยังคงพัฒนาเนื้อหาในเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง  โดยจะเพิ่มเนื้อหาวิชาที่สอนลงไปทีละระดับชั้นเรียน รวมถึงเนื้อหาด้านอื่นที่สอดคล้องกับโครงการ Coding for Better Life ของ depa ที่ให้ทุนด้านอุปกรณ์มา ทางครูจะต้องจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับ การเขียนโปรแกรม(Coding) ด้วย ส่วนรายวิชาอื่น ๆ เช่น ศิลปะ การงานอาชีพ ครูช้างก็จะรวบรวมเนื้อหารายวิชามาบรรจุไว้ในเว็บไซต์ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตนเอง

ทั้งนี้ ครูช้างยังให้นักเรียนส่งการบ้านผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงการสอบและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การใช้เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน (Application) ต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ เว็บไซต์ www.ขุนช้าง.ไทย หรือ www.kunchang.in.th ยังเชื่อมโยงกับเว็บไซต์อื่นที่เป็นแหล่งข้อมูล เช่น สสวท. เว็บไซต์เรียนวิธีคิดผ่านวิธีโค้ด by coding Thailand  www.code.org  DLTV สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลในวิชาที่ตนเองไม่ถนัด เช่น ศิลปะ การงานอาชีพ

สุดท้าย ครูช้างแสดงความขอบคุณมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทยและหน่วยงานภาคีที่จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 ขึ้น ทำให้ตนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมอบรม จึงอยากเชิญชวนเพื่อนครูที่อยู่ใกล้ศูนย์อบรมทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการเพื่อที่จะได้มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง และรวบรวมองค์ความรู้ของครูบรรจุในเว็บไซต์เผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

คลิปสัมภาษณ์