บทความ

จากครูผู้สอนสู่ผู้สร้างเว็บไซต์ “วิทย์ครูนก.ไทย” จุดไฟการเรียนรู้ยุคใหม่

วิทยาศาสตร์ โลกกว้างแห่งการเรียนรู้ เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวของเราตั้งแต่เริ่มตื่นนอนเลยทีเดียว ไม่ว่าพระอาทิตย์ขึ้น เสียงนก เสียงธรรมชาติ หรืออาหารการกิน ล้วนเป็นสิ่งเรียนรู้ในมุมของ “นักวิทย์”ได้อยู่ตลอดเวลา

การผลิตสื่อการเรียนการสอนให้เด็กในวัยประถมศึกษา ให้สนใจเข้ามาสืบค้นหา “ความมหัศจรรย์รอบตัว”นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และการสร้างเว็บไซต์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ก็เป็นสิ่งที่หลายคนหวาดกลัว ว่าจะเป็นเรื่องยากเข้าไม่ถึง แต่นางสาวศศิธร  เขียวกอ หรือ ครูนก ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนพญาไท กรุงเทพมหานคร ครูในวัย 50 ปีเศษ สามารถทำได้

โดยครูนก ได้ผลิตเว็บไซต์ www.วิทย์ครูนก.ไทย หรือ www.vitkrunok.in.th  จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองระดับประเทศ จากผู้ชนะเลิศระดับศูนย์อบรมจำนวน 11 ศูนย์ ในการประกวดเว็บครู.ไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการคัดเลือกจากครูที่เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย” ปี พ.ศ.2567  จำนวนกว่า 700 คน

จุดเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ www.วิทย์ครูนก.ไทย

นางสาวศศิธร  เขียวกอ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนพญาไท สอนวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้จัดทำ www.วิทย์ครูนก.ไทย หรือ www.vitkrunok.in.th เล่าว่า ในอดีตคิดว่าการทำเว็บไซต์เป็นเรื่องยาก ต้องมีการเขียนโค้ด แต่เมื่อได้รับคำแนะนำจากสามีที่เป็นครูเช่นกันจึงปฏิบัติตาม “สามีเคยเข้าอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ในครั้งแรก ปี พ.ศ. 2566 หลังการอบรมได้กลับมาเล่าว่าการทำเว็บไซต์ไม่ยาก ครูนกน่าจะมีความสามารถทำได้ รวมทั้งครูนกมีผลงานอยู่แล้ว น่าจะนำมารวบรวมไว้ในเว็บไซต์”

ต่อมาเมื่อครูนกพบการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ครูเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทยปี พ.ศ. 2567 จึงสอบถามสามีอีกครั้งว่าเป็นโครงการเดียวกันหรือไม่ เมื่อพบว่าใช่ จึงแจ้งความสนใจไปยังโครงการ และชวนครูท่านอื่นในกลุ่มสาระเดียวกันให้เข้าร่วมโครงการ แต่ครูท่านอื่นไม่สนใจจึงสมัครเข้าอบรมเอง

ครูนกเล่าว่าการเรียนการสอนในช่วงโควิด มีการทำคลิปสอนเด็กอยู่บ้างแล้ว รวมทั้งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้อำนวยการโรงเรียนหรือหน่วยงานบางหน่วยงานแนะนำให้ถ่ายเป็นคลิปเก็บไว้  รวมทั้งสไลด์การสอน เอกสารการสอน รวมทั้งแผนการสอน ได้จัดทำไว้เป็นประจำ จึงเป็นสื่อการสอนที่สามารถบรรจุเข้าไว้ในเว็บไซต์ได้ทันที


ออกแบบเว็บไซต์ ตอบโจทย์ความรู้ที่จะถ่ายทอดให้นักเรียน

            เมื่อได้รับความรู้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย” ปี พ.ศ.2567  ครูนกจึงเริ่มสร้างเว็บไซต์ของตนเอง โดยตั้งคำถามเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของนักเรียน

“เริ่มต้นที่หลักสูตรที่โรงเรียนมีกิจกรรมนอกเหนือหลักสูตรการเรียนการสอนตามปกติ นักเรียนของโรงเรียนพญาไทและโรงเรียนอื่น ๆ จะมีการสอบแข่งขันตามสถาบันหรือหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อมีแนวคิดว่าจะต้องมี 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมในหลักสูตรนอกหลักสูตร กิจกรรมการประกวดแข่งขันการสอบแข่งขัน และกิจกรรมการสอบเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1 ครูนกจึงออกแบบเว็บไซต์โดยอิงนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งการลงคลิปเกี่ยวกับการสอน ผู้ที่จะได้ประโยชน์เพิ่มคือเพื่อนครู โดยเฉพาะครูที่เพิ่งเข้ามาใหม่ โดยครูที่มีประสบการณ์หลายปีก็มีจำนวนลดลง ซึ่งครูที่มีประสบการณ์มากจะมีความลุ่มลึก ส่วนนี้เราอาจจะทิ้งร่อยรอยของการดีไซน์ออกแบบการสอนได้ ก็ควรจะมีเว็บไซต์สำหรับเพื่อนครู หรือครูรุ่นน้อง ที่ได้เข้ามาดู นอกจากนี้ ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนพญาไท มีความสนใจการเรียนรู้ของลูก ซึ่งในช่วงที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ได้เคยจัดกิจกรรมเชิญชวนผู้ปกครองและนักเรียนมาร่วมกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ พบว่ามีผู้ปกครองส่วนหนึ่งให้ความสนใจสนับสนุนลูกให้เข้าร่วมกิจกรรม นับเป็นระบบนิเวศที่ดีสำหรับการเรียนรู้ของลูก จึงออกแบบให้ตอบโจทย์ 3 โจทย์นี้ได้ แต่หลัก ๆ คือนักเรียน” ครูนก กล่าว

สำหรับสีสันและการจัดวางโครงสร้างเว็บไซต์นั้น ครูนกได้ศึกษาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วนำมาปรับใช้ในเว็บไซต์ของตนเอง โดยเฉพาะการใช้ตัวอักษรที่มีหัว เพราะโรงเรียนพญาไทสอนระดับชั้นประถมศึกษา เด็กนักเรียนจึงควรรู้จักการเขียนตัวอักษรไทยที่ถูกต้องมีหัวหางชัดเจนตามแบบโบราณ จึงเป็นการทิ้งร่องรอยความถูกต้องดั้งเดิม แต่ไม่ใช้ตัวอักษรที่เชย

เว็บไซต์ “www.วิทย์ครูนก.ไทย” หรือ “www.vitkrunok.in.th” ตอบโจทย์การเรียน

            เว็บไซต์ www.วิทย์ครูนก.ไทย หรือ www.vitkrunok.in.th  ได้กลายเป็นห้องเรียนให้กับนักเรียนที่เรียนในห้องแล้วยังตามไม่ทัน โดยนักเรียนสามารถกลับไปทบทวนแบบเรียนได้จากคลิปที่ครูนกบรรจุไว้ หรือในช่วงก่อนสอบครูนกจะบรรจุตัวอย่างข้อสอบไว้ในเว็บไซต์ เป็นการติวให้กับนักเรียน โดยไม่เสียเวลาเรียนตามหลักสูตร พบว่านักเรียนชอบและก่อนสอบมักจะสอบถามว่าครูได้จัดติวในเว็บไซต์หรือไม่ อีกทั้งผู้ปกครองก็ชื่นชมที่สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้จากเว็บไซต์เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกของตนเองได้

            “เอาคลิปครูมาดูก็เหมือนเรียนรู้กับลูกไปพร้อมกัน ก็จะวางแผนการเรียนของลูกได้ ส่วนเพื่อนครูที่อยู่ต่างจังหวัดก็ขอบคุณมาว่า บางจุดไม่เข้าใจ และไม่เข้าใจว่านักเรียนของเค้าไม่เข้าใจ พอมาดูเว็บไซต์ของครูนกทำให้เคลียร์และเข้าใจได้มากขึ้น อันนี้เป็นการตอบรับที่ดีของคนที่เข้ามาใช้ค่ะ” ครูนกกล่าว


พัฒนาเว็บไซต์ให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น

            แนวคิดในการดึงนักเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสื่อ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสื่อการเรียนรู้ โดยนักเรียนจะได้ทั้งความรู้ มีการสร้างสรรค์เนื้อหาและรูปแบบที่นำเสนอ ซึ่งการทำซ้ำ ๆ เป็นเสมือนการสอนให้นักเรียนได้รับความรู้ในเรื่องนั้น ๆ นอกจากนี้ ครูนกยังต้องการเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์อื่น ๆ เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้มากขึ้น รวมทั้งต้องการให้เว็บไซต์ www.วิทย์ครูนก.ไทย หรือ www.vitkrunok.in.th  สามารถสื่อสารกับผู้เข้าชมเว็บไซต์ให้มากขึ้น ด้วยการพูดคุยเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการสร้างพลวัตรให้เกิดขึ้นในเว็บไซต์


 ชวนครูมาทำเว็บไซต์

            ครูนกกล่าวย้ำว่า จากจุดเริ่มต้นที่อยากมีเว็บไซต์เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ให้กับนักเรียนทั้งในโรงเรียนพญาไทและโรงเรียนอื่น ๆ การเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ปี พ.ศ.2567 จึงตอบโจทย์นี้ได้ โดยที่ครูที่เข้าร่วมโครงการเป็นครูในสาขาวิชาใดก็ได้ และไม่จำกัดอายุว่าจะต้องเป็นครูที่อยู่ในวัย 30-40 ซึ่งตนเองอายุ 50 กว่าปีก็ยังทำได้

            “เว็บไซต์ดอทไทยเป็นการสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตามเทรนด์ของนักเรียน ที่มีพฤติกรรมเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป anywhere anytime คือที่ไหนก็ได้เวลาใดก็ได้ และการอบรมครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าเรายังมีความสามารถที่จะพุ่งไปได้อีกอย่างไม่มีขีดจำกัด จึงขอเชิญชวนคุณครูทุกคนให้เข้ามาอบรมกับทางโครงการเว็บครูดอทไทยค่ะ”ครูนกกล่าวทิ้งท้าย

            ทั้งนี้ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย เป็นองค์กรที่ดูแลบริหารจัดการชื่อโดเมนรหัสประเทศไทย ทั้ง .th และ .ไทย ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเว็บไซต์ด้วยชื่อโดเมน .th และ .ไทย ขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 และจะยังคงจัดทำโครงการต่อไป เพื่อให้ครูพัฒนาทักษะการสร้างเว็บไซต์ขั้นพื้นฐานให้นำไปใช้ได้จริง และถ่ายทอดความรู้ไปยังนักเรียนได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ชุมชนและสังคมได้อย่างเหมาะสมกับยุคดิจิทัล.

คลิปสัมภาษณ์